ส่งเสริมวินัยข้าราชการ(กรกฎาคม2564)

เมื่อ “ครู” ถูกร้องเรียนว่า ขาดจริยธรรม

ทำให้นักเรียนเกือบครึ่งห้อง…..สอบตก

          ครู คือ แม่พิมพ์ของชาติ คำกล่าวนี้ไม่ว่าเวลาจะผ่านมานานแค่ไหนก็ยังคงใช้ได้อยู่เสมอ เพราะครูเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการสั่งสอนและถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ส่งเสริมการเรียนรู้ของศิษย์ด้วยวิธีการต่าง ๆ ในสถานศึกษา

          คดีที่นำมาเล่าเป็นอุทาหรณ์ในเอกสารเผยแพร่ฉบับนี้ เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่สอนหนังสือและประเมินผลการเรียนของข้าราชการครู ซึ่งไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่สถานศึกษากำหนด ปล่อยปละละเลยให้นักเรียนมีผลการเรียนต่ำกว่าความคาดหวังซึ่งไม่เป็นไปตาม “คู่มือแนะนำนักเรียนเกี่ยวกับการประเมินผลการเรียนระดับมัธยมศึกษาของงานทะเบียนวัดผล” จนกระทั่งถูกผู้ปกครองนักเรียนร้องเรียน ทำให้โรงเรียนได้รับความเสียหาย

          มูลเหตุของคดี เกิดจากผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่งร้องเรียนขอให้มีการตรวจสอบการประเมินผลการเรียนของนักเรียน เนื่องจากครูได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่สอนวิชาเสริมทักษะคณิตวิทย์ ของนักเรียนชั้นดังกล่าวมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการปฏิบัติหน้ที่ครู ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนสอบได้ระดับคะแนนเป็น 0 จำนวน ๒๑ คน จากนักเรียนทั้งหมด ๔๗ คน

กรอบของวินัยข้าราชการ

 ข้าราชการครูทุกคนต้องประพฤติและปฏิบัติตนให้อยู่ภายในกรอบของวินัย ทั้งที่เป็นข้อห้าม และข้อปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗ ที่บัญญัติไว้โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ เช่น ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เสมอภาค และเที่ยงธรรม มีความวิริยะอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ ปฏิบัติตนตามมาตรฐานและจรรยาบรรณวิชาชีพอย่างเคร่งครัด (มาตรา ๘๔ วรรคแรก) ตรงต่อเวลา อุทิศเวลาของตนให้แก่ทางราชการและผู้เรียน ไม่ละทิ้งหรือทอดทิ้งหน้าที่ราชการโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร (มาตรา ๘๗ วรรคแรก) เป็นต้น และหากข้าราชการครูผู้ใดฝ่าฝืนข้อห้ามหรือไม่ปฏิบัติตามข้อปฏิบัติทางวินัยข้อหนึ่งข้อใด ย่อมถือได้ว่ากระทำผิดวินัย

ข้อเท็จจริงในคดี รับฟังได้ว่า

       คู่มือการปฏิบัติงานครูงานวิชาการโรงเรียน กำหนดว่าผู้เรียนต้องมีผลการประเมินในระดับใด หากผลการประเมินต่ำกว่าเกณฑ์ต้องดำเนินการ ซ่อมเสริมและสอบแก้ตัว หรือจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน อันจะมีผลถึงผลการประเมินปลายภาคเรียน ซึ่งเป็นหน้าที่โดยตรงในฐานะเป็นผู้สอนและเป็นผู้ที่สอบในรายวิชาดังกล่าว ซึ่งรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการประเมินผลผู้เรียนเป็นอย่างดี โดยจะต้องปรับปรุงแก้ไขนักเรียนที่มีข้อบกพร่อง และในการสอนเสริมและสอบแก้ตัวก็จะต้องกำหนดวัน เวลา ที่เหมาะสม เพื่อให้นักเรียนมาพร้อมกัน โดยทำเป็นหนังสือ หรือประกาศแจ้งให้นักเรียนทราบ

ศาลปกครองสูงสุด วินิจฉัยว่า

       จากคู่มือการปฏิบัติงานครู งานวิชาการโรงเรียนที่ใช้อยู่ในขณะเกิดข้อพิพาทและใบแสดงคะแนนที่ผู้ฟ้องคดีจัดทำปรากฏว่า การประเมินผลหลังเรียนมีผู้สอบได้คะแนนไม่ถึงร้อยละ ๕๐ จำนวน ๓๙ คน และในจำนวนดังกล่าวมีผู้ได้คะแนน ๐ คะแนน จำนวน ๘ คน อันเป็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏอย่างชัดแจ้งว่า ผลการเรียนรู้ในเรื่องดังกล่าวไม่เป็นไปตามผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง ซึ่งผู้ฟ้องคดีจะต้องนำข้อมูลดังกล่าวมาปรับปรุง แก้ไข ซ่อมเสริมผู้เรียนให้บรรลุผลการเรียนที่คาดหวัง การไม่ดำเนินการดังกล่าวย่อมส่งผลโดยตรงทำให้นักเรียนมีผลการเรียนเป็น 0 จำนวน ๒๑ คน จากทั้งหมด ๔๗ คน การกระทำของครูดังกล่าว(ผู้ฟ้องคดี) ถือได้ว่านักเรียนจำนวนดังกล่าวได้รับความเสียหายโดยตรง และเสียหายต่อภาพลักษณ์ของครูและองค์การ (โรงเรียน) โดยส่วนรวม ทำให้สังคมเสื่อมศรัทธาต่อวิชาชีพครู พฤติการณ์จึงเป็นความผิดทางวินัยไม่ร้ายแรง กรณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการตามมาตรา ๘๔วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครู และบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๗

บรรทัดฐานการปฏิบัติงาน โดยศาลปกครองสูงสุด

      การปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเรียนการสอน นอกจากครูจะมีหน้าที่โดยตรงในการให้ความรู้เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในรายวิชาที่ตนมีหน้าที่รับผิดชอบแล้ว การดำเนินการจัดให้มีการสอนเสริม หรือสอบซ่อมแก้ตัว หรือการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถหรือทักษะให้กับนักเรียนที่มีผลคะแนนจากการสอบต่ำกว่าเกณฑ์หรือไม่ผ่านเกณฑ์เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในรายวิชาดังกล่าวดียิ่งขึ้นถือเป็นหน้าที่ที่สำคัญเช่นเดียวกัน เนื่องจากการสอบวัดระดับความรู้ของนักเรียนทั้งในระหว่างภาคเรียนและหลังจากจบภาคเรียน นอกจากจะเป็นการประเมินความรู้ของนักเรียนแล้ว ยังเป็นการประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลการสอนของครูผู้สอนอีกด้วย และหากข้าราชการครูคนจงใจละเว้นหน้าที่ไม่ทำการสอนเสริมการสอบซ่อม หรือจัดให้มีกิจกรรมที่เป็นการเพิ่มพูนและพัฒนาความรู้ จนส่งผลโดยตรงทำให้นักเรียนมีผลการสอบที่มีคะแนนต่ำกว่าเกณฑ์ หรือไม่ผ่านเกณฑ์เป็นจำนวนมาก และทำให้โรงเรียนและครูท่านอื่นได้รับความเสียหายในทางชื่อเสียง และเสียภาพลักษณ์แล้ว ย่อมถือเป็นการไม่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ อุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร ดูแลเอาใจใส่ รักษาประโยชน์ของทางราชการ อันเป็นการกระทำผิดวินัยไม่ร้ายแรง

การกำหนดโทษ

หลักนิติธรรมในการกำหนดโทษ

คือ คำนึงถึงระดับโทษตามที่กฎหมายกำหนด

* ความผิดวินัยอย่างร้ายแรง กำหนดโทษสถานหนัก

* ความผิดวินัยอย่างไม่ร้ายแรง กำหนดโทษสถานเบา

* ความผิดวินัยเล็กน้อย  จะงดโทษให้ก็ได้
(ว่ากล่าวตักเตือน  ทัณฑ์บน)

2. หลักความเป็นธรรม
คือการวางโทษจะต้องให้ได้ระดับเสมอหน้ากัน ใครทำผิดก็จะต้องถูกลงโทษ

การส่งเสริมสนับสนุนให้ข้าราชการรักษาวินัย

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต ๑

สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน

 กลุ่มกฎหมายและคดี